วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เราปล่อยให้คนโกหกออกทีวีทุกวันไม่ได้! เปิดใจ 'สมจิตต์ นวเครือสุนทร'

นักข่าวสายการเมืองจอมเก๋าสังกัดช่อง 7 สี ถูกพูดถึงมากเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีขณะสัมภาษณ์รุกเร้าตามสไตล์อยู่ที่รัฐสภา พลันก็ถูกนักการเมืองรุ่นเก่าตีตราว่า ฝักใฝ่พรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม ขณะถูกคำถามรุกหนักแบบที่เห็นจากภาพทางทีวีกันไปแล้ว
เป็นบทสนทนาที่บางจังหวะ นักข่าวสาวก็แจ้งนักการเมืองคนดังกล่าวไปว่า ปรักปรำเธอแบบนี้ไม่ได้ การสัมภาษณ์ก็ยังดำเนินไป
จน ภายหลังมีรายงานข่าวครึกโครมตามมาแบบไม่มีภาพเคลื่อนไหวว่า พอเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์เธอเดินปรี่ตามนักการเมืองคนดังกล่าวเข้าไปถามด้วย วลี หนูว่าท่านว่าเป็นขี้ข้า...หมิ่นประมาทไหม..??
ในวันที่ 2 อาชีพ “นักการเมือง” และ “ผู้สื่อข่าว” ต้องทำงานร่วมกันแบบชั่วฟ้าดินสลาย กำลังขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ไทย รัฐออนไลน์มีโอกาสได้พูดคุยกับ น.ส.สมจิตต์ นวเครือสุนทร นักข่าวสายการเมืองจอมเก๋าสังกัดช่อง 7 สี ถึงเรื่องราวเบื้องหลังดังกล่าว ยังพาไปรู้จักตัวตนกับนักข่าวสายการเมือง ที่ว่ากันว่านักการเมืองกลัวคำถาม ตรงๆ จี้ใจดำมากที่สุดคนหนึ่งในวงการ!!

Q : กรณีทะเลาะกันกับนักการเมืองคนนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น..?

A : มัน ไม่ใช่เรื่องการทะเลาะ (เสียงเข้ม) มันเป็นการทำหน้าที่ แต่เพียงว่าปฏิกิริยาที่ตอบโต้ จากแหล่งข่าวจะเป็นอย่างไรมันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนอาจจะมีวิธีเลี่ยง บางคนก็อาจจะมีวิธีเหมือนกับขู่ บางคนก็อาจจะใช้วิธีเปลี่ยน หรือเลี่ยงประเด็นไปเลย และสิ่งที่เขาทำที่เป็นข่าวล่าสุดก็เป็นบุคลิกของนักการเมืองคนนี้

Q : ตลอดระยะเวลาที่เป็นนักข่าวเจอกับนักการเมืองที่เป็นข่าวนี้มากี่ปีแล้ว..?

A :
20 ปี แล้วค่ะ ตั้งแต่เข้ามาการเมือง เข้ามาทำข่าว

Q : วิธีการที่นักการเมืองคนนี้ใช้กับนักข่าวก็ยังเป็นแบบนี้อยู่เหมือนเดิม..?

A : จริงๆ แล้วช่วงที่เราเข้ามาทำข่าวใหม่ๆ แล้วเขาเป็นรัฐมนตรี ยังเป็นคนมาเล่าว่าใน ครม.มีการประชุมกัน แล้วก็พูดว่าให้ระมัดระวังนักข่าวคนนี้ นักการเมืองคนนี้ยังพูดใน ครม. เลยว่านักข่าวคนนี้เป็นคนตรงไปตรงมา ไม่มีนอกไม่มีในอะไรหรอก เขาทำตามหน้าที่

Q : ฟังเหมือนเขาเข้าใจหน้าที่ แต่ครั้งนี้ทำไมออกมาในรูปแบบนี้ ..?
A : ไม่ ทราบค่ะ มันอาจจะเป็นเพราะว่าคำถามที่เรายิงไปมันมีผลกระทบต่อจิตใจ และที่สำคัญไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากตอบก็เลยทำให้ภาพมันออกมาแบบนั้นถามว่า เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไหม ไม่เสียใจแม้แต่นิดเดียวเลยค่ะ ส่วนกลัวไหม ก็ไม่กลัว จริงๆ ตอนนั้นที่เขาพูดว่าเราเป็นฝ่าย ปชป. การกระทำแบบนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้เราสัมภาษณ์เขาจะพยายามโยงเราไปพวก ปชป.ตลอดเวลา แล้วมันก็เป็นการชี้นำผ่านสื่อทีวีมากมายสื่อออกไป ที่ว่านักข่าวคนนี้เลือกข้างโดยที่เราไม่มีสิทธิ์ได้ชี้แจงอะไร แต่เขากล่าวหาเรามันผ่านสื่อทุกช่องเลย แล้วถ้ายิ่งไปเปิดทีวีฝั่งคนสนับสนุนพวกเขาจะยิ่งเกลียดเรามากขึ้นแน่นอน ทั้งๆ ที่เราไม่คิดว่าต้องเป็นศัตรูกัน เรายังเคยฝากน้องที่ช่อง 7 ที่ สนิทกับนักการเมืองคู่กรณีไปบอกว่าเวลาที่สัมภาษณ์ไม่ต้องเรียกชื่อเราออก ทีวีก็ได้ เพราะว่าสิ่งที่เขาทำมันส่งผลกระทบเหมือนกับผลักให้เราไปอยู่อีกข้างหนึ่ง ซึ่งนักการเมืองคู่กรณีก็รู้อยู่แล้วว่าเราไม่ได้เป็นแบบที่เขากล่าวหา เรายังฝากบอกต่อไปตลอดเลยว่า ถ้ายังทำแบบนี้อยู่อีกเราจะฟ้อง

หลัง จากนั้นก็เพิ่งมาเจอสัมภาษณ์ที่เป็นข่าวออกไปแล้วมันรุนแรงกว่าที่ผ่านๆ มา คือแบบเย้ยหยัน แล้วก็ใช่คำว่า “ฝักใฝ่” ย้ำแล้วย้ำอีก เพราะ “ฝักใฝ่” ตอนนั้นเราถึงพูดเรื่องฟ้องว่าหนูฟ้องท่านได้นะ เพราะว่าถือว่าได้สื่อสารกับเขาไปแล้วตั้งแต่ต้นว่า อย่าทำแบบนี้อีกเลยมันไม่ดีแต่ก็ยังทำอีก ตอนนั้นก็คิดว่ากำลังทำหน้าที่อยู่ก็ทำมันจนจบ ปล่อยให้เขาว่าเราไปเรื่อยๆ เขาเป็นรัฐมนตรีก็ต้องให้เกียรติเขาด้วย ไม่ว่าเขาจะเป็นคนยังไงก็ต้องให้เกียรติเพราะเขาเป็นรัฐมนตรี เป็นรองนายกฯ ของประเทศนี้

Q : ในข่าวบอกคุณรอจนทำหน้าที่สัมภาษณ์เสร็จ ..?

A : ใช่, หลังจากสัมภาษณ์เสร็จถึงรอให้เขาเซ็นชื่อ จึงเปิดประตูออกเพราะว่าเรารู้สึกว่า เราถูกกระทำโดยไม่ยุติธรรม ต้องปกป้องสิทธิ์ของตัวเองที่สำคัญเราควรที่จะต้องทำให้คนที่มีอำนาจรู้ว่า เขาไม่สามารถที่จะใช้อำนาจทำอะไรกับประชาชนก็ได้ เพราะทุกคนมีสิทธิทางกฎหมายที่เท่าเทียมกัน เราถึงถามเขาว่า แล้วท่านบอกว่าการฝักใฝ่ ปชป.ไม่หมิ่นประมาทเนี่ย แล้วถ้าหนูเรียกพี่ว่าเป็น ขี้ข้าทักษิณ หมิ่นประมาทไหม เขาก็หน้าตกใจ เขาบอกแบบนี้หมิ่นประมาท เราก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นท่านก็มีสิทธิตามกฎหมาย ไปแจ้งความ สน.ดุสิต เหมือนที่ท่านแนะนำให้หนูไปทำเราเพียงแค่ต้องการสื่อสารว่า คนทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย แล้วอย่ามารังแกกัน อย่ากระทำกัน แล้วทุกคนมีสิทธิที่จะต้องปกป้องตัวเองได้

Q : หลังจากนี้จะดำเนินการต่ออย่างไร ฟ้องร้องหรือไม่..?

A : ไม่ค่ะ เพราะถือว่าเราก็ได้ว่าเขาไปแล้ว เว้นแต่ว่าถ้าเขาฟ้อง เราก็ฟ้องกลับ ในข้อหาเดียวกันด้วย

Q : คุณเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า นักข่าวไม่สมควรแค่ตั้งคำถาม แต่เราต้องหาความจริงด้วย วันนี้ยังยืนยัน และรู้สึกอย่างนั้นอยู่ไหม..?

A :
ใช่ ค่ะ แล้วทุกวันนี้ที่สังคมมีปัญหาแยกถูกผิดไม่ได้ ก็เพราะสื่อมวลชนถามหาแต่ความเห็น แต่ไม่ให้ความจริงกับประชาชน ซึ่งวันนี้เราก็ยังยืนยันว่าจะทำอย่างนั้นอยู่ แล้วก็อยากจะตั้งความหวังให้สื่อมวลชนกลับมาทบทวนตัวเองว่าเราคือส่วนนึงที่ ทำให้สังคมนี้แตกแยกหรือเปล่า เช่น “การนำเสนอคำพูดคนโกหกทุกวัน จนแม้กระทั่งประชาชนแยกแยะไม่ได้ว่านี้คำโกหกหรือความจริง มันก็เหมือนกับการให้ยาพิษกับประชาชนทุกคน ค่อยซึมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันนี้เขาก็แยกไม่ออก เหมือนเรื่องชายชุดดำมันเป็นได้ยังไงในสังคมนี้ เห็นกันชัดเจนขนาดนั้น ต้องมานั่งถกเถียงว่ามีหรือไม่มี เป็นเพราะว่าคนที่เขาคิดที่จะเปลี่ยนแปลงเขารู้ข้อจำกัดของคนไทยว่าไม่อ่าน แล้วก็เชื่อคนง่ายฟังคนเชื่ออย่างเดียวไม่อ่านไม่ค้นคว้า เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นอันตรายที่สุดแหละสำหรับสังคมในขณะนี้

Q : ในสนามเวลาสัมภาษณ์เวลายิงคำถามตรงๆ คุณดูแปลกแยกกับนักข่าวคนอื่นที่มักจะเออออตามนักการเมืองบ้างไหม..?

A : เราไม่รู้ว่าแต่ละคนคิดยังไง แต่ส่วนตัวไม่คิดอะไร เราทำหน้าที่เสร็จก็จบ

Q : ตั้งแต่เกิดเรื่องกรณีล่าสุดผู้บริหารหรือหัวหน้าข่าวในสังกัดคุณต่อว่าอะไรบ้างไหม..?

A : ยังไม่มีอะไรเลย

Q : หลังจากนี้เราก็ยืนยันที่จะทำหน้าที่เหมือนเดิม ดุดัน ถามตรงๆ ตีแสกหน้า..?

A : ใช่ค่ะ

Q : ถามถึงกรณีคดีเสื้อแดงส่ง E-mail ข่มขู่ เรื่องฟ้องร้องไปถึงไหนแล้ว..?

A : วัน ที่ 6 ธันวาคม นี้ ศาลแขวงดุสิตจะตัดสินค่ะว่า จะรับฟ้องไว้รึเปล่า ซึ่งความตั้งใจของเราก็คือจะสู้กันถึงที่สุดไม่ยอมความแน่นอน เพื่อที่จะบอกให้ทุกคนรู้ว่ามันมีความถูกความผิดอยู่ แล้วแต่ละคนจะต้องมีความยับยั้งชั่งใจก่อนที่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน ฉะนั้นเมื่อจบคดีนี้เขาอาจจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลยก็ได้ สมมติถ้าตัดสินว่าผิดยังไงก็ไม่ติดคุก เพราะมันลหุโทษ และเขาก็ไม่เคยทำความผิดก็รอลงอาญากันไป เพียงแต่เราอยากจะบอกกับสังคมว่า คนไทยไม่ค่อยคิดจะรักษาสิทธิของตัวเองแล้วบางทีมันกลายเป็นความเคยชิน ที่ทำให้ถูกกระทำแล้วกลายเป็นปมในใจของตัวเอง ทั้งที่จริงๆ แล้วเราสามารถลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองได้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม และปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมันคือกฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ก็อยากให้กฎหมายมันมีความศักดิ์สิทธิ์ อยากสื่อสารไปยังคนที่ใช้กฎหมู่ได้รู้ว่า เขาต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

Q: รู้สึกอย่างไรกับคำว่าฝักใฝ่ประชาธิปัตย์ที่นักการเมืองคนดังกล่าวพูดตีตราให้คุณ...?


A :
เขาอยากพูดอะไรก็พูดได้หมดนะคะ แต่ว่าในการเป็นนักข่าวเราต้องยอมรับความจริงว่า ไม่ว่าเราจะประจำอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะยาวนานแค่ไหน มันต้องมีความสนิทสนมกับแหล่งข่าวเป็นเรื่องปกติ แต่ว่าต้องบอกก่อนเลยว่าเราไม่เชื่อเรื่องความเป็นกลาง ในเรื่องความรู้สึก ความเป็นกลางไม่มีในเรื่องของความถูกความผิด แต่ความเป็นกลางต้องมีในการนำเสนอข้อเท็จจริงนั่นคือต้องแยกแยะได้ระหว่าง การทำงาน แล้วก็เรื่องส่วนตัว


Q : ตกลงฝักใฝ่ประชาธิปัตย์หรือไม่...?

A : เรา ทำงานประจำพรรคนี้ แต่เราไม่ใช่คนของพรรค และก็ไม่ได้ประจำที่พรรคนี้อย่างเดียวเราอยู่ที่สภาอยู่องค์กรอิสระ ตั้งหลายปี ซึ่งการกล่าวหาแบบนี้น่าจะมาจากกรณีที่เราเขียนหนังสือถึงคุณอภิสิทธิ์ 2 เล่ม เล่มหนึ่งมันก็คือเรื่อง ใครว่าผมอภิสิทธิ์ กับอีกเล่มหนึ่ง อภิสิทธิ์ คนเดิมบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ตรงนั้นมันก็เป็นการเขียนในเชิงเล่าประสบการณ์ข่าวจากการทำงานของเรา ในมุมมองของนักข่าวที่มองคุณอภิสิทธิ์ ว่าเป็นอย่างไร

ตอนเขียน หนังสือเล่มแรก ก็คิดอยู่นานเหมือนกันว่า เราจะต้องถูกผลักมาว่าชื่นชมพรรคนี้เป็นพิเศษ แล้วเรายังเขียนไว้ในคำนำว่า “สิ่งที่เขียนตรงนี้มันอาจส่งผลกระทบให้คนมองเราไปในแง่แบบนั้น” แต่เราคิดว่า มันเป็นมุมมองที่ไม่เคยปรากฏในสาธารณะ กับคนที่เคยเขียนถึงคุณอภิสิทธิ์ อย่างเรื่องใครว่าผมอภิสิทธิ์ทุกคนที่อ่านจะบอกว่าเหมือนคุณอภิสิทธิ์ จับต้องได้ จากเดิมที่แบบเหมือนเป็นนักการเมือง คิดว่าเราอยากเขียนในมุมมองที่มันแตกต่างไปจากส่วนอื่น ๆ จริง ๆ เราก็ไม่ได้เขียนถึงคุณอภิสิทธิ์คนเดียว พี่เขียนถึง คุณกรณ์ จาติกวณิช แล้วก็เขียน เรื่องไอ้ชาติหมาอีกเรื่องนึง แต่ถ้าถามว่าจะให้เราไปเขียนเรื่องพรรคเพื่อไทยได้ไหม เป็นไปไม่ได้หรอก เพราะเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับตัวเขา ไม่ได้อยู่กับเขา ไม่รู้ว่าเขาเป็นยังไง


Q : เป็นคนถามแรงๆ แบบนี้ถูกคุกคามบ้างไหม..?

A : ช่วง เสื้อแดงมี แต่ตอนนี้ไม่มีค่ะ ถามว่าต้องระวังตัวไหมก็ปกติ แต่ก็มีครอบครัวเป็นห่วงบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นเตือนให้เลิกอาชีพนี้ จริงๆ เขาเตือนตั้งแต่คดีที่เราไปฟ้องเรื่องอีเมล์ข่มขู่แล้วว่าไม่อยากให้ฟ้อง แต่พอเราอธิบายให้ฟัง เขาก็พูดคำนึง "แม่อยู่ข้างลื้อ" เราก็ชื่นใจ แต่วันเกิดเรื่องกับนักการเมืองล่าสุดกลับไปบ้านปุ๊บเขาก็บอกว่า "เอาอีกแล้ว" แล้ว (หัวเราะ) แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร


Q : เป็นสื่อที่อยู่ระหว่างเขาควายแบบนี้ เคยเบื่อ หรือถึงขั้นคิดจะเลิกอาชีพนี้ไหม..?

A : ไม่เคยเบื่อเลยค่ะ อยากทำจนกระทั่งไม่มีแรงทำ ทำจนกว่าเราจะเกษียณ ตอนนี้อายุ 43 ปี

Q : อยู่ในวงการมานาน ยุคไหนในสายตาคุณที่ถือว่าสื่อโดนบีบมากที่สุด..?

A :
ยุค นี้ (ตอบเร็ว) เราคิดว่าเป็นยุคที่เลวร้ายที่สุดของสื่อ เพราะว่าในช่วงของอดีตผู้นำพลัดถิ่นมันอาจจะเป็นช่วงที่เรียกว่าแทรกซึม แทรกแซง แต่ว่าในยุคปัจจุบันมัน แทรกซึม แทรกแซง แทรกซื้อ และสมยอม ไอ้การสมยอมคืออันตรายที่สุดของสังคม เพราะมันให้ข้อมูลที่เป็นเท็จกับประชาชนทุกวันๆ อย่างที่พูดว่ามันเป็นเหมือนยาพิษ แล้วประชาชนก็แยกแยะผิดถูกไม่ได้ จริงๆแล้วอยากให้สื่อมวลชน โดยเฉพาะองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิชาชีพอย่างเราได้ลองทบทวนดูว่า มันควรมีอะไรบ้างที่ควรทำอย่างจริงจังให้เป็นรูปธรรม
อย่างเช่น บอยคอตได้ไหมนักการเมืองคนนี้โกหกทุกวัน ไม่สัมภาษณ์ 7 วัน เพื่อให้เห็นว่า คนๆ นี้เป็นอย่างไร แล้วให้สังคมได้เห็นแต่ว่า มันคงเกิดขึ้นไม่ได้ แต่เราคิดว่ามันควรจะเป็น เพราะว่าอย่ามาอ้างคำว่าเป็นกลางมันเป็นกับดักให้ตัวเอง คนส่วนมากจะอ้างความเป็นกลาง บางคนก็อ้างเพราะว่าติดกับดักนี้จริงๆ บางคนก็อ้างเพื่อที่จะไม่ได้ต้องไปเจ็บตัว รู้มาก แต่จริงๆ แล้วการที่เราบอกว่าเราต้องเสนอความเห็นของคนคนนี้ทั้งๆ ที่เรารู้ ว่าเขาโกหกนั่นก็แสดงว่า เรากำลังทำผิดหน้าที่สื่อสารมวลชน ในฐานะที่เป็น Gatekeeper (Gatekeeper Theory ทฤษฎีผู้ปิดและเปิดประตูข่าวสาร) หรือ ประตูในการกลั่นกรองข่าวสารสังคมไทยตอนนี้ การกลั่นกรองข่าวน่ะมันเสียของดีของเสียไหลออกมาหมดเลย คนแยกไม่ออกว่าอะไรดี อะไรชั่ว


Q : ในมุมมองของคุณ นักข่าวที่ตั้งคำถามเพื่อค้นหาความจริงในวงการเราคิดว่าจะเหลือสักกี่เปอร์เซ็นต์...?

A : ไม่ ถึง 10 % ค่ะ แล้วพี่คิดว่าสื่อมวลชนยุคใหม่เรื่องที่น่าเสียดายอย่างหนึ่งคือเขาไม่ได้ คิดว่า “สื่อมวลชนคือวิชาชีพ แต่คิดว่ามันเป็นอาชีพ” ที่มีเงินเดือน ซึ่งตรงนั้นมันทำให้จิตวิญญาณในการที่จะตรวจสอบน้อยลง (เน้นเสียง) กลายเป็นทำหน้าที่เป็นแค่บุรุษไปรษณีย์ ในการที่จัดส่งสารเท่านั้นเอง หมดข่าวแล้วจบกัน ไม่ได้รู้สึกรู้ร้อนรู้หนาว ความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดว่าประเทศกำลังจะล่มสลายหรือ เปล่า ถ้ามวลชนมีจิตวิญญาณที่คิดว่าประเทศเดือดร้อนไปกับความล้มเหลวของประเทศมัน จะเกิดคำถามขึ้นมา ด้วยตัวเอง มากกว่าที่จะต้องตั้งคำถามกับนักการเมือง แต่ตอนนี้เรามองไม่เห็นในนั้น

Q : อยากจะฝากอะไรกับนักการเมืองที่กลัวหรืออคติคุณบ้างไหม..?


A : ไม่, คิดว่านักการเมืองกลัวเรานะ แต่คิดว่าเขากลัวความจริง แค่อยากจะบอกว่าการทำหน้าที่ของสื่อก็มีสิทธิ์ที่จะถาม แต่ในขณะเดียวกันนักการเมืองมีสิทธิ์ที่จะไม่ตอบก็ได้ แต่ว่าต้องเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกันไม่ใช่มาคุกคามกัน อีกอย่างนึงก็คือว่าคนเป็นนักข่าวมีหน้าที่ตั้งคำถามเพื่อให้เกิดประโยชน์ กับประชาชน ไม่ได้มีหน้าที่ตั้งคำถามเพื่อเอาใจผู้นำประเทศ

จาก  http://www.thairath.co.th/content/life/306871

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก